เรื่องราวของความรัก ที่เกิดจากการรักตัวเอง รักในสิ่งของนอกกายมากจนเกินไป ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญทุกท่านติดตามได้เลย…
สมัยก่อนเวลาจะมีแหล่เทศน์มหาชาติ พระนักเทศน์มักจะแหล่เรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ ให้ชาวบ้านได้ฟังแทรกเป็นของแถมเสมอ เพราะในสมัยก่อน ย้อนไปเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว สมัยนั้นเรายังไม่มีโทรทัศน์ให้ได้รับชมข่าวสารกัน และพระนี่แหละคือโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่กระจายข่าวจากหนังสือพิมพ์ไปแปลงสาร เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองกัน และแหล่ที่นำมาเสนอในวันนี้ ชื่อว่า…
“แหล่เทศน์อีทองเลื่อนที่หักคอน้องผัว” โดยดัดแปลงจากเพลงแหล่เป็นเรื่องเล่าของอีทองเลื่อนที่น่าตื่นเต้น และเป็นที่สนใจของชาวบ้านในสมัยนั้น
จุดเริ่มต้นของตำนานนี้เริ่มจากบุคคลหนึ่ง นามว่า “อีทองเลื่อน” เป็นลูกมอญอยู่แถวพระประแดง เตี่ยเป็นคนจีน
อีทองเลื่อนมีรูปร่างสะสวย และได้สมรสกับ “นายตังกวย” โดยมี “หนูเล็ก” (น้องสาวของนายตังกวย) อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันที่บ้านในตลาดปากลัด
บ้านนางทองเลื่อนอยู่ติดถนนใหญ่ มีทางเข้าออกทางเดียวคือทางถนนใหญ่ โดยใช้เป็นร้านประกอบการค้าของเบ็ดเตล็ด เช่น ของใช้อุปโภค เป็นต้น
ต่อมาอีทองเลื่อนเกิดความละโมบ โลภมาก อยากได้ทรัพย์สินเงินทองต่าง ๆ มาเป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับอีทองเลื่อนกำลังตั้งท้องลูกคนที่สอง อีทองเลื่อนจึงมีความรู้สึกที่ไม่อยากให้สมบัติของผัวไปตกอยู่ที่ใคร แม้แต่หนูเล็กที่ยังเป็นเด็กอยู่ก็ตาม
และในวันหนึ่ง นายตังกวยมีธุระต้องออกไปซื้อเครื่องเซ่นไหว้เหมือนที่เคยทำในทุก ๆ ครั้ง ด้วยโอกาสนี้เอง จึงทำให้อีทองเลื่อนสบโอกาสใช้อุบายให้ “เต้” ซึ่งเป็นเด็กรับใช้เอาลูกของตนเองไปฝากไว้กับยาย พอใกล้ช่วงเวลาเที่ยง นางทองเลื่อนก็ชวนหนูเล็กเข้าไปในห้อง แล้วจัดการหักคอหนูเล็กอย่างเลือดเย็น
หลังจากที่เธอฆ่าหนูเล็กสมใจแล้ว เธอก็เอาศพหนูเล็กไปยัดใส่ตุ่มน้ำ เพื่อสร้างหลักฐาน หวังที่จะบอกผู้อื่นในภายหลังว่าหนูเล็กหน้าคว่ำจมน้ำน้ำตาย
ต่อมานางทองดี (ซึ่งเป็นย่าของหนูเล็ก) รอคอยหนูเล็กอยู่นาน ไม่เห็นกลับบ้านมาสักที ก็ไถ่ถามอีทองเลื่อน อีทองเลื่อนได้ยินเช่นนั้นก็พูดจาบิดเบือน บอกว่าเมื่อเช้าหนูเล็กเขามาที่นี่ มาขอกล่องไปเล่น แล้วหนูเล็กก็กลับไปตั้งนานแล้ว
กระทั่งตกเย็น เต้ เด็กรับใช้ได้พบหนูเล็ก ในสภาพที่จมตุ่มน้ำอยู่ เต้ ตกใจร้องโวยวายขึ้น จนชาวตลาดได้ยินเสียงก็พากันแห่เข้ามาดู และต่างช่วยกันเอาตัวหนูเล็กขึ้นมาจากตุ่มอย่างโกลาหล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาถึงที่เกิดเหตุ
นายตำรวจที่มา คือ นายร้อยตำรวจตรีตี๋ กับคุณพระณรงค์ฤทธี ทั้งสองสั่งให้นายแสงยกศพหนูเล็กขึ้นมาจากตุ่ม หลังจากที่ยกศพขึ้นมาก็สังเกตเห็นว่าบริเวณลำคอของหนูเล็กหัก และมีรอยเขียวคล้ำที่คอ จึงเชื่อว่าหนูเล็กตายเพราะถูกทารุณกรรม มิใช่หน้าคว่ำจมน้ำตายเองอย่างแน่นอน
เมื่อความสงสัย ยังคงคาใจอยู่นายตำรวจทั้งสองก็ให้นำเอาศพหนูเล็กไปส่งโรงพยาบาลเพื่อชันสูตร และผลก็ปรากฏออกมาว่า หนูเล็กถูกทำร้ายร่างกายและฆาตกรรมจริง
ส่วนอีทองเลื่อนใจมาร เมื่อตำรวจซักถามก็แสดงท่าทีมีพิรุธออกมา เธอจึงถูกนำตัวส่งเข้ากรงขังทันที ด้านนายตังกวย เมื่อกลับมาถึงบ้านได้ทราบเหตุว่าน้องสาวตายแล้ว ก็สุดแสนจะเศร้าใจ นายตังกวยจำใจต้องเลี้ยงลูกพลางคอยฟังข่าวตัดสินคดีอยู่ทางบ้านเพียงลำพัง
เมื่อถึงวันตัดสินคดี มีผู้คนให้ความสนใจไปร่วมฟังกันอย่างมากมาย หลวงบรรจง แพทย์ผู้มาเป็นพยานให้การว่า ผลการชันสูตร ในกระเพาะของหนูเล็กไม่มีน้ำแม้แต่น้อย แสดงว่าไม่ได้จมน้ำตาย แก้มซ้ายแก้มขวาและคอของหนูเล็กมีรอยช้ำเขียว แสดงว่าถูกตบตีทำทารุณ
นางพริ้ง ห้องชิดติดกันให้การว่าได้ยินเสียงเด็กร้อง แต่เข้าใจว่าอีทองเลื่อนตีนายเต้ เลยไม่ได้สนใจอะไร และเพื่อนบ้านอีกคน คือ นายฉันท์ ให้การ ว่า เขาเห็นอีทองเลื่อนอุ้มเด็ก ท่าทางดู เก้ ๆ กัง ๆ เข้าไปในห้อง เหลือเพียงแต่อีทองเลื่อน
แม้ศาลจะสำทับอย่างไรก็ยังคงให้การปฏิเสธตลอดเวลา แต่เนื่องจากศาลเห็นว่าคดีมีมูล จึงส่งคดีเข้ามายังกรุงเทพมหานคร ทำให้นางทองเลื่อน ต้องติดคุกอีกเป็นเวลา 6 เดือน และในขณะที่อีทองเลื่อนอยู่ในคุกท้องของเธอก็ค่อยๆ โตขึ้นๆ ศาลเมตตาผ่อนผันให้คลอดบุตรเสียก่อน อีทองเลื่อนจึงจำต้องอยู่ในคุกต่อไป จนกระทั่งคลอดบุตรเป็นชาย ผู้คุมก็เบิกตัวอีทองเลื่อนไปฟังการพิจารณาคดี
ผลการพิจารณาคดีศาลชั้นต้นตัดสินให้ประหารชีวิต แต่อีทองเลื่อนยื่นอุทธรณ์ เวลาผ่านไป 15 วัน ศาลให้คำอุทธรณ์ตกไป อีทองเลื่อนจึงดิ้นรนทำเรื่องทูลเกล้าถวายฎีกาไป
หากแต่ว่า…ผลกรรมที่อีทองเลื่อนทำไว้มีมากนัก ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเซ็นพระนามประหารชีวิตอีทองเลื่อนให้ตายตามหนูเล็กไป ทำให้อีทองเลื่อนหน้าซีดหน้าเซียว ทำได้แค่เพียงคิดถึงลูกแล้วน้ำตาไหลพรากนองบนใบหน้า
ผู้คุมนำตัวนักโทษขึ้นรถยนต์และลงเรือกลไฟมุ่งไปยังวัดโบสถ์ซึ่งอยู่ไกลกรุงเทพฯ ออกไป ทั้งสองได้แต่นั่งถอนใจในบาปกรรมที่ตนได้ก่อขึ้นมา ยิ่งเรือแล่นเข้าคลองปากลัดในยามสงัด ฝ่ายอีทองเลื่อนก็ยิ่งใจสั่น แลไปทางไหนก็ไม่เห็นแม้แต่เงาของญาติพี่น้องมาปลอบขวัญเลยแม้แต่เพียงคนเดียว
วันที่ 14 ตุลาคม ปี พ.ศ. 2468 (วันประหาร)
และวันสำคัญก็มาถึง…ออกพรรษาในปีนั้น มีคำสั่งให้นำตัวนักโทษไปประหารพร้อมกัน 2 คน คือ อ้ายลองฆ่าแม่ยายตายกับอีทองเลื่อนฆ่าน้องผัวตาย สถานที่ประหารคือวัดโบสถ์ คลองบางปลากด เขตพระประแดง
ณ วัดโบสถ์ เมื่อเรือจอดเทียบท่า เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าล้อมตัวนักโทษ คุมตัวขึ้นศาลา นิมนต์พระสงฆ์มาเทศนาและจัดกับข้าวให้ทำบุญเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่นักโทษทั้งสองจะไม่มีโอกาสได้ทำบุญอีก
ถึงเวลารุ่งสาง พอทำบุญถวายสังฆทานแล้ว เจ้าพนักงานก็คุมตัวไปยังแดนประหารโดยมีม่านกั้นที่ทำเตรียมไว้ เอาอีทองเลื่อนผูกเข้ากับหลักเสาประหารโดยให้นั่งบนใบตองตานี ที่ข้างๆ มีศาลเพียงตาพร้อมเครื่องพล่าบัตรพลีตามพิธีกรรม
เช้าตรู่ของวัน ชาวบ้านในระแวกนั้นต่างแตกตื่น พากันมาดูการประหารชีวิตนักโทษกันมากมายเหลือล้น บางคนมีใจเวทนาซื้อพวงมาลัยมาให้อ้ายลองกับอีทองเลื่อนคนละพวง อ้ายลองน้ำตาร่วงจิตใจเศร้าสร้อย ผิดกลับอีทองเลื่อนใจยักษ์ใจมารยังยิ้มสู้ โดยไม่ได้สะทกสะท้านอะไรเลย
ช่างเป็นผู้หญิงที่ใจเด็ดเสียกระไรนี่ แต่ต่อให้จะเป็นบุคคลที่ร้ายกาจ จิตใจอำมหิต เลือดเย็นขนาดไหน แต่ด้วยความที่เป็นแม่ ก่อนที่เพชฌฆาตจะเริ่มทำพิธีสังหาร อีทองเลื่อนได้ขอความเมตตาให้ลูกเธอได้กินนมของตนเป็นครั้งสุดท้ายเสียก่อน ทำให้ชาวบ้านที่เห็นภาพนั้นต่างพากันหลั่งน้ำตาให้อีทองเลื่อนด้วยความสงสารและเวทนาต่อภาพที่เห็น
เมื่อถึงเวลา เพชฌฆาตเอาดินเหนียวอุดหูอ้ายลองและอีทองเลื่อน เพชฌฆาตนี้มี 4 คน คือ คนฆ่าอีทองเลื่อนหรือดาบหนึ่ง คือ นายร้อยขุนอาทรปราบสุธา ดาบสองคือนายจันทร์ อีกสองคนที่จะทำหน้าที่ฆ่าอ้ายลอง คือ ขุนทรงเดชชาญฉกรรจ์กับนายพรม แต่ละคนต่างล้วนนุ่งผ้าแดงโพกผ้าแดง ย่างสามขุนดูน่ากลัว
พอได้จังหวะ ขุนทรงเดชก็ฟันคออ้ายลองก่อน ฉัวะ!! เดียวหัวขาดกระเด็นลงพื้นทันที หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจต่อมาขุนอาทรที่ได้รับหน้าที่บั่นคอผู้หญิงใจยักษ์ใจมารก็เข้าฟันคออีทองเลื่อน แต่เนื่องจากวางมือพลาดเป้าไปหน่อย หรือเพราะด้วยความบาปหนาของผู้หญิงเลือดเย็นคนนี้ จึงโดนเข้าที่ไหล่กับบ่า
อีทองเลื่อน เธอกรีดร้อง!!!! ด้วยความเจ็บปวด เมื่อนายจันทร์ดาบสองได้เห็นเช่นนั้นก็ตรงเข้าฟันซ้ำทันที แต่….ปรากฏว่าขนาดโดนดาบสอง คออีทองเลื่อนก็ยังไม่ขาดกระเด็น ทำให้นายจันทร์ต้องโดดเข้าเชือดคอจนมรณาไปในที่สุด
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการประหารชีวิตแล้ว เพชฌฆาตทั้งสี่ต่างก็เดินเลยขึ้นไปบนกุฏิ หมอบให้หลวงพี่รดน้ำกันเสนียดจังไร
ปล่อยให้เจ้าพนักงานที่อยู่ข้างล่างช่วยกันเอาหัวผู้ร้ายทั้งสองเสียบประจาน เอาร่างที่ไร้วิญญาณของอ้ายลองซึ่งไร้ญาติขาดมิตร ลงหลุมเอาดินกลบ แต่ร่างอีทองเลื่อนนั้นยังดีที่มีญาติเอาโลงมารับไม่ต้องฝังประจานใกล้ลานประหารให้ทุเรศนัยน์ตา แต่กระนั้นเขาก็ยังคงนำศพไปฝังในป่าช้าวัดโบสถ์ และแล้วชีวิตของอีทองเลื่อนสุดอำมหิตก็สิ้นสุดลง
ยังมีเรื่องเล่าต่อมาว่า . .
การประหารชีวิตอีทองเลื่อน เกิดขึ้นที่ตลาดพระประแดง ของ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ปี พ.ศ.2468 เมื่อเสร็จสิ้นพิธีประหารแล้วนั้น สุดท้ายก็นำหัวที่ตัด ออกมาเสียบประจานบนเนินดิน
แต่ในเวลาต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2507 มีการขุดท่อระบายน้ำบริเวณแยกพลับพลาไชยในปัจจุบัน หรือ ในอดีตเป็นตะแลงแกงวัดอโศก คนงานที่ขุด ได้พบกับกระดูกคนจำนวนมากมาย หลายโครง และแน่นอนโครงกระดูกเหล่านั้นไม่มีหัวเลยสักโครงเดียว
เรื่องราวและตำนานของอีทองเลื่อนหักคอน้องผัวไม่ได้จบลงไปพร้อมกับชีวิตอีทองเลื่อน ซึ่งต่อมาได้มีการตีพิมพ์แหล่เทศน์อีทองเลื่อนที่หักคอน้องผัวที่โรงพิมพ์ห้างสมุดอยู่ที่สำเพ็ง พิมพ์จำหน่ายเมื่อ ปี พ.ศ.2469 จำนวน 1000 ฉบับ โดยขาย ฉบับละ25 สตางค์
ซึ่งหากทุกท่านไปค้นหนังสือพิมพ์ในหอสมุดแห่งชาติ ก็อาจจะได้พบหลักฐานเพิ่มเติมอีกมากมายได้ และเรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต
Cr.หนังสือฆาตกรยุคคุณปู่ k.เอนก นาวิกมูล , ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
เรียบเรียง : Red Diary