จุดเริ่มต้นการเป็นสัปเหร่อ

จุดเริ่มต้นการเป็นสัปเหร่อ

เรื่องนี้ถูกเล่าในช่อง พาเที่ยวเลี้ยวไปหลอนของ พี่เนตร ธนพล ซึ่งผู้เล่าได้เล่าถึงประสบการณ์ในวันเด็ก จุดเริ่มต้นของการเป็นสัปเหร่อตั้งแต่อายุ 14 อาชีพที่แทบจะไม่มีอยู่ในความคิดของเด็กในวัยเดียวกันกับเขา เหตุใดเขาจึงเลือกเส้นทางสายนี้ เราไปอ่านกันเลยดีกว่า..

ผมชื่อ ฟลุ๊ค หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นสัปเหร่อของผม ในสมัยเด็กๆ จะเรียกว่าโรคจิตก็ไม่ใช่ แต่เป็นความชอบของเด็กคนหนึ่งที่เวลาไปงานศพญาติ ๆ  กับคุณแม่คุณพ่อ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักก็ดี หรือญาติผู้ใหญ่ก็ดี ผมจะสนใจมันเป็นพิเศษ

ในวันฌาปนกิจศพของแต่ละงานอย่างที่เรารู้กันว่าก่อนที่จะถึงพิธีเผาศพ สัปเหร่อจะต้องทำพิธีล้างหน้าศพ ตัดตาสังอะไรต่างๆตามกรรมวิธีของสัปเหร่อแต่ละท่านทุกครั้ง 

เมื่อผมได้ไปงานฌาปนกิจศพ งานประชุมเพลิงศพ ตามวัดต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่พาไป เมื่อแขกในงานวางดอกไม้จันทน์เสร็จ หลายครั้งที่ผมอยากขึ้นไปดูศพ จึงบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ขึ้นไปดูกับหนูหน่อย แต่ด้วยความที่สถานภาพตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่ พวกท่านจึงไม่อนุญาต 

จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2556 ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คุณปู่ของผมท่านได้เสียชีวิตลง ที่บ้านก็ได้จัดงานศพตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งงานศพก็ผ่านไปด้วยดี ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

เนื่องจากเป็นงานศพของปู่ผมเอง จึงทำให้ผมได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับศาสนพิธีต่าง ๆ ที่สัปเหร่อทำ จนมันจุดประกายความชอบเล็กๆในงานด้านสัปเหร่อขึ้นมา ซึ่งมันได้เริ่มจากงานปู่ผมนี่แหละ

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2558 ตอนนั้นผมอายุ 14 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผมก็เริ่มเปิดอินเทอร์เน็ต เปิดยูทูปค้นหาคำว่าสัปเหร่อ ไล่ดูแทบทุกคลิป อ่านแทบทุกเว็บ ค้นหาข้อมูลต่างๆ เรียกว่ารอบด้านในขอบเขตของคำว่าสัปเหร่อเลยทีเดียว ว่าสัปเหร่อนั้นมีหน้าที่อะไร ต้องทำอะไรบ้าง 

และในช่วงนั้นผมจำได้ว่ามีรายการจ้อจี้ เขาจะนำเด็กไปทำภารกิจต่างๆ ตอนนั้นผมได้ดูเทปนึงที่ทางรายการพาเด็กไปทำภารกิจกับอาจารย์เนรมิต ศรีเมือง ท่านเป็นสัปเหร่อที่แต่งตัวดี อยู่วัดบัวขวัญพระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี ท่านได้รับฉายาว่าเป็นสัปเหร่อไฮโซ 

เหตุผลที่ผมอยากเป็นสัปเหร่อ ส่วนหนึ่งก็มาจากอาจารย์เนรมิต ศรีเมือง นี่แหละครับที่เป็นไอดอลของผม เพราะท่านแต่งตัวไม่เหมือนสัปเหร่อทั่ว ๆ ไป แต่ท่านจะใส่สูททุกครั้ง มันจึงดูเท่ดีในสายตาของเด็กอายุ 14 อย่างผม บวกกับความชอบผมที่มี และจุดประกายเล็กๆจากงานศพของคุณปู่ จากการค้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต เมื่อทั้งหมดทั้งมวลมันรวมกัน ทำให้ผมตัดสินใจที่จะศึกษาการเป็นสัปเหร่ออย่างจริงจัง 

เย็นวันนั้นหลังเลิกเรียน ผมตัดสินใจปั่นจักรยานไปที่วัดที่อยู่ใกล้บ้าน ไปหาสัปเหร่อประจำวัด ที่แกทำมาหลายสิบปีแล้ว เรียกว่าเป็นสัปเหร่อที่เก่าแก่ประจำวัดเลยก็ว่าได้ แกชื่อว่า ตาสาน ซึ่งผมจะชอบเรียกแกว่าอาจารย์

ไปถึงก็เจอหลวงพ่อท่านนั่งอยู่ด้านหน้ากุฏิ ผมเอ่ยปากบอกกับหลวงพ่อทันทีว่า “หลวงพ่อครับ ผมอยากจะมาหาสัปเหร่อ อยากศึกษาเล่าเรียนวิชาในด้านนี้” หลวงพ่อที่ไม่ได้ว่าอะไรก็บอกว่า “นู่น มีงานศพพอดี นั่นไง สัปเหร่อก็นั่งอยู่ที่เมรุ” ผมก็กล่าวขอบคุณหลวงพ่อ แล้วรีบปั่นจักรยานตรงไปที่เมรุทันที 

ด้วยความใสซื่อของเด็กอายุ 14 มาถึงผมก็บอกกับ ตาสาน ว่า “อาจารย์ครับ ผมอยากเป็นสัปเหร่อ อยากจะศึกษาเล่าเรียนวิชาในด้านของสัปเหร่อทั้งหมด” 

ด้วยความที่แกคงเห็นผมเป็นเด็ก ยังเรียนหนังสืออยู่ แกเลยบอกว่า เดี๋ยวขอตัดสินใจก่อน ยังไม่ตกลงรับปากว่าจะรับเป็นลูกศิษย์ ยังไม่รับปากว่าจะรับเข้ามาทำงานนะ  ผมจึงขอบคุณแก แล้วปั่นจักรยานกลับบ้าน

พอกลับมาถึงบ้าน ผมก็บอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า “ปั่นจักรยานไปหาสัปเหร่อที่วัดมา” พอพูดจบ ท่านก็ขำมากๆ แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร

ด้วยความตั้งใจจริงและความมานะอุตสาหะของตัวผมเอง เย็นวันต่อมาหลังเลิกเรียน ผมก็ปั่นจักรยานเข้าไปหาสัปเหร่อที่วัดอีก คราวนี้ ตาสาน คงเห็นความตั้งใจของผม แกก็เลยบอกว่า “วิชาสัปเหร่อเนี่ย มันไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็น มาเรียนปุ๊บ ก็ได้เป็นเลย ข้อแรก มันต้องมีใจรักส่วนหนึ่ง 

ข้อสอง ต้องศึกษาหาความรู้ให้ดีเสียก่อน เพราะว่างานตรงนี้ จริงอยู่ศพเป็นสิ่งที่เรามองเห็น แต่จิตวิญญาณของแต่ละศพ แต่ละท่านผู้วายชนม์ ที่ญาติเขานำมาบำเพ็ญกุศล รวมถึงจิตวิญญาณของเจ้าที่เจ้าทาง นายป่าช้า เราไม่เห็น  หากเราทำผิดพลาด หรือหากเราทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรไม่ดี มันก็พร้อมจะกลับมาเข้าตัวเราได้เสมอ

ข้อสาม วิชาสัปเหร่อมันต้องใช้เวลาในการศึกษาสักพักนึงก่อน แต่ก่อนที่จะสอนวิชาสัปเหร่อ ก็อยากจะสอนให้เป็นศาสนพิธีกรก่อน 

(ศาสนพิธีกรก็คือพิธีกรทั่วไป คล้ายๆกับมัคทายก คนที่คอยพูดหน้างานศพ) แกได้ให้ข้อคิดว่า การที่เราได้เป็นศาสนพิธีกรก่อนที่จะเป็นสัปเหร่อ มันทำให้เราสามารถใช้น้ำลายของเรา เพื่อทำมาหากินหาเลี้ยงชีพต่อไปในภายภาคหน้าได้ 

ตอนแรกผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเราจะใช้น้ำลายของเราหาเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างไร จนผมได้เริ่มไปฝึกกับแก แกก็ได้ให้หนังสือสวดมนต์มาเล่มนึง ให้มาฝึกท่องอะระหังสัมมา บทบูชาพุทธคุณธรรมคุณสังฆคุณ  มนต์บทต่าง ๆ ที่เราท่องกันทั่วไป 

ตาสาน บอกว่า เมื่อไหร่ที่ท่องบทเหล่านี้ได้แล้ว ค่อยกลับมาท่องให้ฟัง ผมก็กลับมาฝึกท่องมนต์บทต่างๆอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จนจำได้ขึ้นใจทุกบท จึงกลับมาท่องให้แกฟัง แต่ด้วยความที่กลัวผิด ผมก็เลยเปิดหนังสือไปด้วย ท่องให้ท่านฟังไปด้วย

หลังจากท่องมนต์บทต่างๆ จนครบ  พอดีเย็นวันนั้นมีศพเข้ามาพอดี แกคงอยากจะทดสอบผม พิธีศพคืนแรกแกจึงบอกให้ผมหยิบไมค์ขึ้นมาพูดประเดิมการเป็นศาสนพิธีกงานแรกเลย 

ด้วยความที่เป็นงานแรก ผมก็งงๆกับตัวเอง แต่ด้วยความที่ผมอยากผ่านตรวจสอบ เพื่อจะได้เป็นสัปเหร่อดังใจหวัง อยากจะช่วยคนจริงๆ ก็ทำไป แต่ก็ทำไปด้วยความประหม่า ทั้งผิดทั้งถูก ถูๆไถๆจนจบพิธี หลังจากวันนั้นผมก็ได้ทำหน้าที่เป็นศาสนพิธีแทน ตาสาน อยู่บ่อยครั้ง 

จนผมได้เริ่มเป็นสัปเหร่อเต็มตัว ถามว่าผมมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง ในส่วนของหน้าที่การเป็นสัปเหร่อ เมื่อคนเสียชีวิตจากโรงพยาบาล หรือจากที่บ้านก็ดี ทางญาติ ๆ ก็จะนำร่างของผู้วายชนม์ มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัด 

อันดับแรกเลยเราจะต้องทำการนวดศพ ก็เหมือนกับการนวดคนทั่วไปเพื่อให้เส้นมันผ่อนคลาย เพราะว่าในวันแรกของพิธีบำเพ็ญกุศล เราจะต้องนำร่างของผู้วายชนม์ มาตั้งและวางแขนยื่นออกมาเพื่อให้ลูกหลานญาติพี่น้องและผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานมาแสดงความอาลัย รดน้ำศพ 

หลังจากนวดศพเสร็จ รดน้ำศพเรียบร้อย ในวันแรกก็ต้องทำพิธีตราสังศพ และบรรจุลงโลง ปัจจุบันพิธีการตราสังศพส่วนมากจะใช้สายสิญจน์ตราสังเฉพาะที่มือหรือที่นิ้วหัวแม่มืออย่างเดียว  

แต่ตามที่สืบทอดกันมาจริงๆในสมัยอดีต เขาจะมัดกันเป็นสามเปาะ สามห่วง ประกอบไปด้วย ห่วงลูก ห่วงสามีภรรยา และห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงแรกที่คอ ห่วงสองที่มือ และห่วงสุดท้ายที่ข้อเท้า เป็นกุศโลบายธรรมที่คนโบร่ำโบราณ เปรียบเหมือนว่า ถ้ามีสามห่วงนี้ก็จะไปสู่นิพพานไม่ได้ ไปสู่สัมปรายภพไม่ได้ 

ฉะนั้นหน้าที่ของสัปเหร่อก็เลยจะต้องทำพิธีตัดตราสังสามห่วง ดังที่กล่าวไป แต่เมื่อยุคสมัยมันปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ปัจจุบันจึงเหลือแค่ที่มืออย่างเดียว 

ในการตราสังก็จะมีดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ก็จะเป็นดอกบัวซะส่วนใหญ่ เราก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนใส่มือผู้วายชนม์ แล้วให้ลูกหลานและญาติ ๆ ของผู้วายชนม์ที่อยู่ภายในบริเวณพิธีกรรม นำกล่าวขอขมากรรมกับผู้วายชนม์ 

การขอขมากรรม ก็คือการขอขมากับผู้วายชนม์ที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี จะเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี 

เมื่อขอขมากรรมเสร็จ นำดอกไม้ใส่มือมัดตราสังเรียบร้อย ก็ต่อด้วยพิธีบอกทางให้กับผู้บ่าวชน โดยคำกล่าวคือ “ให้นำดอกไม้ธูปเทียนนี้ ไปไหว้พระเกตุแก้วจุฬามณีที่ด้านบน ใครทักใครเรียก ใครขอ อย่าได้ให้ อย่าได้แวะ นำไปไหว้ให้ถึง” เมื่อกล่าวเสร็จก็จะนำร่างของผู้วายชนม์บรรจุลงโลง  ตั้งบำเพ็ญกุศล จะตั้งสามคืนห้าคืนเจ็ดคืนก็แล้วแต่ความประสงค์ของญาติผู้วายชนม์

วันสุดท้ายคือการทำพิธีประชุมเพลิงศพ ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะสลายร่างอันไร้วิญญาณของผู้วายชนม์ ซึ่งจะต้องประกอบพิธีกรรมอีกหนึ่งพิธีกรรม ก่อนที่จะนำร่างของผู้วายชนม์เข้าเตาเผาศพ คือพิธีวิธีการนำน้ำมะพร้าวมาล้างหน้าของผู้วายชนม์ 

เขาบอกว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ เปรียบเสมือนเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ จึงนำมาล้างหน้าร่างผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นก็จะทำวิธีการตัดตาสังที่สัปเหร่อได้มัดไว้ ตั้งแต่วันแรก 

แต่ในเรื่องของการตราสัง เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ไปร่วมงานศพ ตอนเปิดโลงให้เห็นร่างผู้วายชนม์ครั้งสุดท้าย บางท่านจะเห็นว่าถูกมัดบ้าง บางท่านก็เห็นว่าไม่มัดบ้าง เท่าที่ผมได้ศึกษามาจากหลายๆอาจารย์หลายๆวัด บางวัดไม่ตราสังก็มี ซึ่งมันก็แล้วแต่วิชาที่สัปเหร่อแต่ละท่านได้เรียนมาจากอาจารย์ของเขา จะไม่ตายตัวว่าจะต้องมัดหรือไม่มัด

หลังจากนำร่างผู้วายชนม์เข้าเตาเผาเสร็จแล้ว ก็รอตอนเช้ามืดเราถึงจะมาเก็บอัฐิของผู้วายชนม์ เป็นอันจบหน้าที่ของสัปเหร่อ

เรื่องนี้อย่างที่พี่เนตรบอก มันไม่มีผีหรืออะไรเลย แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ที่เด็กหนุ่มคนนึงอายุแค่ 14 แต่กับมีความสนใจเกี่ยวกับการเป็นสัปเหร่อ จนสามารถประกอบอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้ได้

พี่เนตรได้ถามกับคุณฟลุ๊คว่า “พี่มักจะเห็นเป็นประจำว่าสัปเหร่อเขาจะมีมีดหมอประจำตัว แล้วน้องฟลุ๊คล่ะ มีกับเขาไหม” คุณฟลุ๊คจึงตอบว่า “มีครับ” 

พี่เนตรได้ถามต่อว่า “แล้วสัปเหร่อเขาพกมีดหมอไว้ทำอะไร”  คุณฟลุ๊คบอกว่า “โทษทีครับ ผมเล่าข้ามขั้นตอนนี้ไป… มีดหมอจะใช้ในพิธีการเบิกโลง ซึ่งก่อนที่จะนำร่างของผู้วายชนม์ลงหีบศพ จะต้องทำพิธีเบิกโลงก่อน 

พิธีเบิกโลงก็เหมือนกับการเบิกทิศเบิกทาง ให้ดวงของผู้วายชนม์ ไปสู่สัมปรายภพที่ดี อย่าได้มีอะไรมาดึงมารั้ง

ซึ่งในอดีตกาลเมื่อสมัยก่อน วิธีการเบิกโลงก็จะมีหลายขั้นตอน  ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องเซ่นไหว้ขอทาง หรือการนำกุ้งพล่าปลายํา มาตั้งเป็นเครื่องเซ่นในพิธีเบิกโลง 

แต่ในสมัยปัจจุบัน เท่าที่คุณฟลุ๊คศึกษามา ในเมืองส่วนมากสัปเหร่อจะใช้มีดหมอเพียงเล่มเดียว สำหรับประกอบพิธีเบิกโลง หลังจากเบิกโลงเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำร่างของผู้วายชนม์นั้น ใส่ลงหีบศพต่อไป 

อีกอย่างหนึ่ง มีดหมอก็ใช้ในการเฉาะมะพร้าวล้างหน้าผู้วายชนม์นั่นแหละครับ 

แล้วคุณเนตรก็ถามคุณฟลุ๊คต่อว่า “ถามจริงๆเลย ตั้งแต่เป็นสัปเหร่อมาเนี่ย เคยเจอผีบ้างไหม”

คุณฟลุ๊คบอกว่า “สำหรับผม เริ่มเป็นสัปเหร่อตั้งแต่อายุ 14 ทำมาก็หลายงาน ก็ยังไม่เคยเจอเลยสักครั้ง แต่ก็มีอยู่งานนึงนะ ตอนนั้นหลังจากที่อาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาให้กับผมเสียชีวิตไป ผมก็ต้องฉายเดี่ยวลุยหน้างานเอง 

ในสมัยช่วงอายุ 15-16 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นม.4 ผมได้เจองานของผู้วายชนม์ท่านหนึ่ง ประกอบพิธีสวดอภิธรรมบำเพ็ญกุศลเสร็จ วางดอกไม้จันทน์ประชุมเพลิงเสร็จ ทำพิธีล้างหน้าศพ มัดตราสัง ตัดตาสังเสร็จ นำร่างของผู้วายชนม์นำเข้าเตาเรียบร้อย เตรียมประกอบพิธีสลายร่างอันไร้วิญญาณของท่านผู้วายชนม์ให้กลายเป็นเถ้าอัฐิ  แต่ปรากฏว่า เตาเปิดหัวเผาไฟไม่ติด 

เตาเผาที่วัดนี้จะเป็นเตาแบบไฟฟ้า ซึ่งในเตาจะมีหัวเผาสองหัวคือ หัวเผาควันและหัวเผาไฟ หัวเผาควันมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ควันออกไปสู่ภายนอก หัวเผาไฟคือ หัวเผาที่จะมีไฟพุ่งออกมาเผาร่างของผู้วายชนม์  

ซึ่งการเปิดปิดเตาเผาแบบไฟ้ฟ้า มันก็จะมีเบ้ากุญแจเหมือนเราสตาร์ทรถ ซึ่งวันนั้นผมก็บิดกุญแจ ไฟระบบเมรุก็ติดปกติ แต่หัวเผาไฟกดไม่ติด ผมก็ลองแก้ระบบดู ไปนิมนต์พระคุณเจ้าที่มีความรู้ด้านเตามาแก้ระบบ เติมน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเรียบร้อย แต่ก็ไม่เป็นผล หัวเผาควันติด เตาติด แต่หัวเผาไฟไม่ติด  

หลังจากที่ผ่านไปครึ่งชั่วโมงเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงกันต่อ 2-3 คนสุมหัวกันอยู่ที่ด้านหลังเตา ยังไม่สามารถเริ่มประกอบกรรมพิธีเผาศพได้ ผมจึงลงไปเรียกหลานของผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นญาติเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่  

“พี่ครับ คือตอนนี้ประสบปัญหาหัวเผาไฟ มันเปิดไม่ติด ทำให้ไม่สามารถเผาศพได้ ผมก็ได้แก้ปัญหาทุกวิธีแล้ว ฉะนั้นจึงขออนุญาต ขออนุญาตคุณพี่ขึ้นไปจุดธูปบอกกล่าวผู้วายชนม์สักหน่อย เผื่อท่านยังมีความห่วงลูกห่วงหลานอะไรอยู่” 

หลังจากที่หลานของท่านผู้วายชนม์ขึ้นไปจุดธูปหนึ่งดอก ด้านหน้าเตาเผาศพ บอกกล่าวเล่าถึงเจ้าที่เจ้าทาง บอกกล่าวองค์พระพุทธ บอกกล่าวดวงจิตวิญญาณของท่านผู้วายชนม์เรียบร้อย เมื่อปักธูปลงไปเสร็จ ผมเดินไปกดหัวเผาไฟด้านหลัง ปรากฏว่าคราวนี้ไฟติดทันที 

แล้วพี่เนตรก็ถามว่า “ขอย้อนไปนิดนึง ตอนที่บีบนวดศพ น้องฟลุุ๊ครู้สึกอย่างไร” คุณฟลุ๊คบอกว่า “ศพแรกเลยที่อาจารย์ได้ให้ผมไปบีบนวดศพ ถามว่าตอนนั้นกลัวไหม ก็กลัวแหละ เพราะเขาก็คือศพ แต่ก็อยากเป็น แต่อาจารย์ท่านก็ได้ให้คำสอนไว้ว่า เขาก็เปรียบเสมือนญาติของเรา เปรียบเสมือนพ่อแม่พี่น้องของเรา เราทุกคนเมื่อวันใดวันหนึ่ง วันข้างหน้า เราก็ต้องมานอนตรงนี้เหมือนกัน จึงทำให้ความกลัวตรงนั้นมันเปลี่ยนเป็นความกล้า และกลายเป็นความที่เราอยากจะทำเพื่อผู้วายชนม์ จริงๆ 

พี่เนตรถามต่อว่า “แล้วอีกกรณีหนึ่ง ที่พี่เนตรลืมถามไป คือการนอนเฝ้าศพ น้องฟลุ๊คเคยนอนด้วยหรือเปล่า” คุณฟลุ๊คตอบว่า “เคยครับพี่ ตามความเชื่อของคนไทยพุทธเรา ส่วนมากมักจะเชื่อกันว่า หากธูปดับ ดวงวิญญาณมักจะกลับบ้านไม่ถูก ฉะนั้นจึงต้องมีคนนอนเฝ้าเพื่อคอยจุดธูปเวลาที่ธูปดับหรือหมดดอก ซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนอยู่ชั้นม.ปลาย จำได้เลย ตาสาน ถามผมว่า ผมนอนเฝ้าศพได้ไหม ผมจึงตอบว่านอนได้ครับ ผมนอนคนเดียวอยู่กับศพสองต่อสองตั้งครั้งหลายคราว แต่ก็ไม่เคยเจออะไรสักที” …และนี่คือเรื่องราวทั้งหมมด

ก่อนจากกัน คุณฟลุ๊คก็ได้ฝากหนึ่งบทกรไว้ เพื่อให้เป็นสัจธรรมของชีวิต 

เมื่อเช้ายังเห็นหน้า พอสายมาสิ้นชีวิต 

ตอนบ่ายยังใกล้ชิด พอเย็นมิตรมรณา 

เมื่อวานยังเห็นอยู่ พอเช้าตรู่สิ้นชีวา

เมื่อกี้ยังผ่านมา พอรับตาก็วายชนม์ 

ตอนที่เราทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ ก็ขอให้ประกอบพลบุญคุณงาม ทำความดีเข้าไว้ เพื่อที่จะได้มีผลในภายภาคหน้า… 

ขอขอบคุณเรื่องเล่าจาก คุณเนตร ธนัชพงศ์ ช่องพาเที่ยว เลี้ยวไปหลอน เรื่อง สัปเหร่อ

บทความนี้ถูกเรียบเรียงจาก Youtube ห้ามคัดลอก ดัดแปลงเนื้อหาไปลงที่อื่น และนำไปทำซ้ำลง Youtube หรือ พอดแคสต์

Previous articleแม่(อี)เป๋อ ของขลังมหาสเน่ห์ มวลสารอาถรรพ์จากดินเจ็ดป่าช้า
Next articleอสุรฆาต  ประสบการณ์หลอนๆกับเกาะที่ห่างไกล