หากใครเคยดูละครช่อง ๓ เรื่อง เจ้ากรรมนายเวร ที่กำกับโดย ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ในเรื่องจะมีตอนหนึ่งที่พูดพิธีตอกเสาเข็มประตูชัยเมืองหน้าด่าน ฉากนี้ในละครจะเล่าประมาณว่า
“ในยามค่ำคืนที่มืดสลัว เสียงล้อเกวียนดังมาจากคุกใต้ดิน ถูกเข็นออกไปยังที่โล่ง ผ้าที่ถูกปิดไว้ตอนแรก ได้ถูกเปิดออก ท้าวทรงวาดหญิงสาวท้องแก่ผู้โชคร้าย พยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยเรี่ยวแรงที่อ่อนเปลี้ย ก่อนที่ทหารเหล่านั้นจะโยนเธอลงหลุม
ยามรุ่งสาง พื้นที่ที่จัดพิธีตอกเสาเข็มประตูชัยเมืองหน้าด่าน ต้องใช้คน 6 คนที่มีชื่อว่า อิน จัน มั่น คง อยู่ ดี ตอกลงไปพร้อมกับเสาเข็ม ให้เป็นวิญญาณคอยปกปักรักษาเมืองตามความเชื่อโบราณ
เสียงพรามหมณ์เป่าสังข์เป็นสัญญาณเริ่มพิธี นายอินเป็นคนแรกที่ถูกเพชฌฆาตถีบลงหลุม เดอร์ ลาแมร์ นายช่างชาวฝรั่งเศส กลั้นใจตัดเชือก เสาตอม่อเลื่อนพุ่งลงสู่กันหลุม กระแทกร่ายนายอินจนแหลก คนต่อไปคือ นายจัน แล้วตามด้วย นายมั่น นายคง นางอยู่ จนถึงหลุมสุดท้าย
เมื่อพราหมณ์ให้สัญญาณ เพชฌฆาตถีบนางดีลงสู่หลุม เป็นหลุมที่มีท้าวทรงวาดอยู่ เธอยังไม่ตายและพยายามร้องให้คนช่วยแต่ไม่มีใครได้ยิน จึงได้แต่พร่ำพรรณาถึงสามีอันเป็นที่รักและลูกในท้อง ส่วนมือของเธอได้กำเหรียญอนุสรณ์ประตูชัยไว้แน่น
เดอร์ ลาแมร์เกิดอาการลังเลไม่กล้าตัดเชือก และสะกดกลั้นอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ ทรุดตัวลงร่ำไห้ เพราะรู้ว่ามีท้าวทรงวาดอยู่ เพชฌฆาตเงื้อดาบตัดเชือกแทน ตอม่อเลื่อนพุ่งลงหลุมกระแทกร่างนางดีและท้าวทรงวาด พร้อมกับมีเสียงร้องของเด็กทารกดังขึ้นมา จึงต้องช่วยกันยกตอม่อขึ้น เพื่อปล่อยลงไปอีกครั้ง เสียงเด็กถึงได้เงียบไปเป็นอันเสร็จพิธี แต่ได้เกิดฟ้าผ่าที่เสาสุดท้ายเพราะท้าวทรงวาดกำเหรียญเอาไว้เหรียญจึงลอยมา พร้อมกับวิญญาณลูกของท้าวทรงวาด”
คนรุ่นเก่าๆเล่ากันมาหลายต่อหลายรุ่นว่า ถือบันทึกตามตำนาน อิน จัน มั่น คง ได้เผยเรื่องราวที่เล่าสืบกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โบราณถือว่าพิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ ๔ ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมือง การฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาท ต้องเอาคนที่มีชีวิตทั้งเป็นลงฝังในหลุม เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูมิให้มีโรคภัย ไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองนครบ้านเมือง และถ้าข้าศึกเข้ามาก็ให้มาบอกเพื่อเตรียมการรับได้ทัน
ในการทำพิธีกรรมดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุม จึงจะศักดิ์สิทธิ์ โดยเจ้าเมืองจะให้เสนากลุ่มหนึ่งออกไปเดินตามหมู่บ้านในเวลากลางคืน แล้วร้องตะโกนเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง เมื่อมีผู้โชคร้ายขานรับครบทั้ง ๔ คนแล้วก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม หลุมเสาหลักเมืองนั้น จะผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทางนอนเหมือนอย่างลูกหีบ
ครั้นถึงวันกำหนดที่จะกระทำการอันทารุณนี้ ก็เลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว แห่แหนนำไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสามนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ด้วย และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้กันทั่ว เมื่อคนมาชุมนุมกันเขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่น ลงมาบนศีรษะผู้เคราะห์ร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคถือลางนั้น บี้แบนอยู่ในหลุม
โดยคนไทยโบราณเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกว่า ผีราษฎร คนสามัญบางคนก็กระทำการฆาตกรรมแก่ทาสของตนในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อใช้ให้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้
ตัวอย่าง การสร้างราชธานีใหม่ของพม่า เมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจึงมีกำแพงกันสี่ด้าน แต่ละด้านมีประตูเมือง ๓ ประตู รวมเป็น ๑๒ ประตูด้วยกัน การฝังอาถรรพ์ก็เป็นคนเป็นล้วนๆ ถึง ๕๒ คน ฝังตามประตูเมืองประตูละ ๓ คน ๑๒ ประตูก็เป็นทั้งหมด ๓๖ คน และเฉพาะใต้พระที่นั่งในท้องพระโรงต้องฝังถึง ๔ คน
และคนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อเป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้นต้องเลือกให้ได้ลักษณะตามที่โหรพราหมณ์กำหนด ไม่ใช้นักโทษที่ต้องโทษประหาร แต่จะเป็นคนที่อยู่ในวัยต่างๆ กัน มีตั้งแต่คนมีอายุจนถึงเด็กทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ทุกคนต้องมีฐานะดีเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน และต้องเกิดตามที่โหรกำหนด ถ้าเป็นชายต้องไม่มีรอยสัก ผู้หญิงต้องไม่เจาะหู เมื่อสั่งเสียร่ำลาญาติพี่น้องแล้วก็จะถูกนำตัวไปลงหลุม ญาติพี่น้องก็จะได้รับพระราชทานรางวัล
เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเล่ากันในยุครัตนโกสินทร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “วันวลิต” นายห้างฮอลันดาซึ่งเดินทางเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยานานถึง ๑๕ ปี สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ ๕ เล่ม ได้กล่าวถึงการสร้างประตูเมืองของกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
เหตุที่กรุงศรีอยุธยามีพิธีก่อนการสร้างประตูเมืองที่น่าสะพรึงกลัวเรื่องหนึ่งคือ การโยนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ลงไปในหลุมแล้วตอกเสาลงไปให้ตายทั้งเป็น โดยหวังว่าผู้หญิงคนนั้นจะกลายเป็นผีรักษาเฝ้าประตูวัง(เมือง)
วันวลิต บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “….พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันทรงเปลี่ยนประตูทั้งหมด…(ประตูเหล่านี้)ถือเป็นที่ๆ ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศสยาม พระเจ้าแผ่นดินทรงสั่งให้โยนหญิงมีครรภ์ ๒ คน ลงใต้เสาแต่ละเสา จำเป็นต้องใช้หญิงมีครรภ์ถึง ๖๘ คน สำหรับประตู ๑๗ ประตูนี้…”
อย่างไรก็ตามวันวลิต เล่าต่อว่า หลังจากนำผู้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดมาเตรียมการทำพิธีพร้อมแล้ว กลับมีหญิง ๕ คน คลอดบุตรเสียก่อน ทำให้เกิดความสังเวชขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ออกญาจักรีจึงกราบทูลฯ ขอให้ปล่อยผู้หญิงเหล่านั้นไป คงเหลือตัวแทนเพียง ๔ คนเท่านั้น ที่ถูกโยนลงหลุมแทน
วันวลิตยังเล่าอีกว่า ไม่เพียงแต่ประตูวังเท่านั้น การสร้างที่ประทับในพระบรมมหาราชวังก็ได้ทำพิธีนี้เช่นเดียวกัน ดังบันทึกตอนหนึ่งว่า “ถ้าสร้างพระราชวัง หอสูง หรือที่ประทับ…ใต้เสาแต่ละต้น…ต้องโยนหญิงมีครรภ์คนหนึ่งลงไป…หญิงผู้ตายในเวลาใกล้คลอดยิ่งดี…
เชื่อว่าผู้หญิงเหล่านี้เมื่อตายแล้วจะกลับเป็นผีปีศาจที่ดุร้าย ไม่เพียงคอยปกป้องเสาซึ่งตนถูกโยนลงมาข้างใต้ แต่ยังช่วยให้ทั้งบ้านพ้นจากโรคร้าย…”
พิธีน่าสะพรึงกลัวนี้ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็พบว่ายังมีเรื่องเล่าถึงพิธีนี้อยู่ โดยเล่ากันว่าในการก่อสร้างประตูเมืองและการตั้งเสาหลักเมือง กรุงเทพฯ ก็มีการโยนหญิงมีครรภ์ลงไปในหลุมเสาก่อนการสร้างเช่นเดียวกัน
นอกจากเรื่องสยองเรื่องนี้แล้ว นายวันวลิตยังเล่าเรื่องน่าตื่นเต้นของเมืองไทยไว้อีก อย่างการประหารชีวิต ออกหลวงมงคล จอมขมังเวทย์ผู้ภักดีต่อพระศรีศิลป์และตกเป็นกบฏ ซึ่งได้แสดงอภินิหารครั้งสุดท้ายที่หลักประหารไว้ว่า
“…เมื่อเขาอยู่ในอาการสงบเพื่อรับดาบที่ฟันลงมา เพชฌฆาตก็ไม่สามารถทำให้เกิดบาดแผลในร่างกายของเขาได้ แม้จะได้ฟันเต็มแรงจนใบดาบชนิดโค้งนั้นคดไปก็ตาม ทุกครั้งที่เพชฌฆาตฟันก็เกิดเสียงดังเหมือนคมดาบกระทบทั่งตีเหล็ก
หลังจากนั้นออกหลวงมงคลก็ก็ลุกขึ้นดึงเชือกที่มัดตัวออก จับเพชฌฆาตไว้และบีบคอจนตาย เสร็จแล้วก็ขอน้ำ เขาเสกคาถาลงไปในน้ำ แล้วดื่มไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือใช้ลูบไล้ร่างกาย และเอานิ้วขวาจุ่มลงในน้ำมนต์ ทำเครื่องหมายลงบนลำตัวด้านซ้ายใต้ซี่โครง
ในประเทศสยามถ้าผู้ใดถูกตัดสินให้ตายด้วยคมดาบ ก็จะต้องถูกฟันตรงนั้นซึ่งไส้จะไหลออกมาอย่างเร็วที่สุด แล้วออกหลวงมงคลก็นอนลงแล้วสั่งให้เพชฌฆาตอีกคนที่ถูกนำตัวมาใหม่ให้ฟันเขาตรงที่ๆเขาทำเครื่องหมายเอาไว้ ถ้าหากฟันพลาดออกหลวงมงคลจะบีบคอให้เหมือนกับที่ทำกับเพื่อนเขาคนก่อน
เพชฌฆาตฟันดาบลงไป แต่ด้วยความกลัวพลาดจึงทำให้ฟันผิด ฟันไม่ถึงตาย ออกหลวงมงคลร้องดังลั่นและสั่งให้ฟันตรงหัวใจ มิฉะนั้นจะบีบคอเพชฌฆาตนี้เสียอีกคน นี่คือวาระสุดท้ายของออกหลวงมงคล บุคคลผู้น่าเกรงขาม ผู้ทำให้พระเจ้าแผ่นดินและทุกคนในราชสำนักตกอยู่ในความกลัว…”
วันลิตเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่เรื่องกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระเจ้าปราสาททองจะขึ้นครองราชย์ แสดงว่านายวันวลิตไปเอาเรื่องที่ชาวบ้านเล่ากันมาเขียนเอามันเพื่อให้คนยุโรปอ่าน แม้นายวันวลิตจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยในยุคที่ผู้บันทึกอยู่ร่วมยุคสมัยก็ตาม แต่เรื่องประเภทนี้ก็แสดงว่านายวันวลิตตอกไข่ใส่เพื่อให้ฝรั่งอ่านสนุก
เรื่องที่ไม่น่าเชื่อเหล่านี้ เมื่อเล่ากันซ้ำไปซ้ำมา ก็เลยทำให้หลายคนเชื่อเป็นเรื่องจริงได้ อย่าง “ขุนช้าง ขุนแผน” ก็เป็นแค่วรรณคดีเรื่องเด่น
มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ฉบับฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ว่า
“เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า “บ้านเมืองใหม่”
เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมือง โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม ๓๒ รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงให้อำเภอ ทนาย ป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง (ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า สี่หูสี่ตา คือกำลังมีครรภ์นั่นเอง)
การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องไปเรื่อยๆไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า ไอ้เจ้ามั่น เจ้าคง อยู่ที่ไหนมาไปประจำที่ ในที่สุดจึงไปได้ผู้หญิงชื่อนางนาค ท้องแก่ประมาณ ๘ เดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบได้ ๓ ครั้งแล้วได้เดินตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลัก เป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง”
เรื่องนี้ก็ไม่เคยปรากฏในพงศาวดารเมืองภูเก็ต แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนกับเรื่องราชาธิราชตอนพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทและทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“ครั้นวันฤกษ์พร้อมกันคอยหาฤกษ์ และนิมิตกึ่งฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์ แล้วก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุม จึงยกเอาเสาปราสาทนั้นลงหลุม”
ตามตำรา “พระราชพิธีนครฐาน” ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยึดถือในการทำพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครนั้น มีมาแต่โบราณกาลหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดกล่าวว่าใช้ตนชื่อ อิน จัน มั่น คง และผู้หญิงท้องมาฝังลงในหลุมอย่างโหดร้ายแบบนี้เลย
ตามตำรานั้นกล่าวว่า ให้เอาดินจากทิศทั้ง ๔ มาปั้นเท่าผลมะตูม สมมุติเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คนถือคนละก้อนยืนอยู่ที่ปากหลุมคนละทิศ เมื่อพราหมณ์ผู้ทำพิธีถามว่าดินแต่ละก้อนนั้นมีคุณประการใด คนที่ถือก้อนธาตุดินก็บอกคุณของดินในมือตนว่า…
“พระนครนั้นจะมีอายุยืนยาว เป็นที่ประชุมของประชาชนชั่วกัลปวสาน คนถือก้อนธาตุน้ำบอก พระกษัตริย์และเสนาอำมาตย์จะเจริญอายุวรรณะประสบสิริสวัสดิ์มงคลทั้งปวง คนถือก้อนธาตุลมว่า การกสิกรรมและพาณิชกรรมจะเจริญรุ่งเรือง สมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ส่วนคนถือก้อนธาตุไฟว่า เหล่าทหารจะแกล้วกล้า มีเดชเดชาเหนือเหล่าข้าศึก”
เมื่อกล่าวจบแต่ละคนก็จะโยนก้อนดินลงในหลุม ตามด้วยแผ่นศิลายันต์ แล้วจึงอัญเชิญเสาหลักเมืองลงตั้งบนแผ่นศิลา อัญเชิญเทวดาเข้าประจำรักษาพระนคร
ไม่มีการเอาอิน จัน มั่น คง หรือหญิงสี่หูสี่ตาลงไปฝัง ซึ่งจะเป็นการสะเทือนใจชาวพุทธเกินกว่าที่จะรับกันได้ และจะไม่เป็นมงคลแก่พระนครเลย
เรื่องที่เอาคนทั้งเป็นฝั่งไปกับเสาหลักเมืองนี้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นนิทานมากกว่า เล่ากันไปเล่ากันมาฟังแล้วสนุก ลิเกก็เล่นไว้มาก เลยนึกว่าเป็นเรื่องจริงไป
บางท่านก็วิเคราะห์ว่า ในสมัยก่อนเชื่อกันว่า เวลากลางคืนเป็นเวลาที่น่ากลัว ทั้งภูตผีปีศาจและคนร้ายก็จะออกอาละวาด อีกทั้งพวกเล่นไสยศาสตร์ก็จะมีการปล่อยของลองวิชากัน คนโบราณจึงห้ามลูกหลานไว้ว่า ถ้ามีเสียงผิดปกติในเวลากลางคืนก็อย่าไปทัก หรือถ้ามีใครที่ไม่คุ้นเคยเสียงมาเรียกก็อย่าได้ขานรับเป็นอันขาด จะมีภัยมาเข้าตัว เรื่องอิน จัน มั่น คง ก็คงเป็นอุบายหนึ่ง ด้วยความห่วงใยลูกหลานในเรื่องนี้ก็เป็นได้
แม้วันวลิตจะย้ำว่า “…เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ…” แต่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : Board Postjung เลขกระทู้ 1112964, mgronline โดย:โรม บุนนาค,เว็บ เรื่องย่อละครไทย | เรียบเรียงโดยคลังหลอน