ในสมัยโบราณ มีความเชื่อว่า การที่คนตาย ก็เพราะผีมาเอาชีวิตไป สำหรับคนที่เรารัก มันเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก หากจะต้องจากกันด้วยความตาย จึงจำเป็นที่จะหาวิธียึดเหนี่ยวปลอบขวัญ ด้วยหลากหลายวิธี ทั้งหาพระรดน้ำมนต์ พึ่งไสยศาสตร์ สะเดาะเคราะห์กับพระ หรือกับผู้รู้ในแต่ละชุมชนนั้นๆ ให้ได้ถึงที่สุดเต็มกำลัง และอีกวิธี ที่คงห่างหายไปนานจากวิถีของคนไทยในอดีต ก็คือ “การทำตุ๊กตาเสียกบาล”
เวลามีคนเจ็บป่วย ร่อแร่ ใกล้ตายเค้าก็เลยพยายาม หาวิธีว่า จะทำยังไงไม่ให้ผีมาเอาตัวไปได้ ก็เลยปั้นตุ๊กตาดินขึ้นมาให้เป็นเพศเดียวกับคนที่ใกล้ตาย
เสร็จแล้วหักคอตุ๊กตาตัวนั้นซะ ทำพิธีเสียกบาล แล้วก็เอาไปวางไว้ที่ทางสามแพร่งเอย หรือลอยน้ำไป เป็นกลอุบายหลอกผี โดยใช้ตุ๊กตาเป็นตัวแทนของคนใกล้ตายนั่นเอง
พอทำพิธีเสียกบาลตุ๊กตา ก็เหมือนเป็นการโอนถ่ายความตายไปให้ตุ๊กตา และเป็นการบอกผีว่า….
“เนี่ยคนนี้ตายแล้วนะ ไม่ต้องมาเอาชีวิตไปแล้วนะ ตายแล้ว”
และนอกจากตุ๊กตาเสียกบาล จะทำขึ้นในช่วงที่มีคนใกล้ตาย แล้วยังทำขึ้นในกรณีที่มีหญิงท้องโตใกล้คลอด และเวลาที่มีเด็กเกิดอีกด้วย
ที่ทำพิธีนี้กับหญิงใกล้คลอดก็เพราะแต่ก่อนการแพทย์ยังไม่ทันสมัย เหมือนทุกวันนี้ การคลอดลูกนี่เป็นตายเท่ากัน ก็เลยถือว่าคนท้องนี่ก็อยู่ในภาวะเสี่ยงตายเหมือนกัน
ส่วนที่ทำพิธีนี้ในช่วงเวลาที่มีเด็กเกิดก็เพราะคนโบราณเชื่อกันว่า ผีจะมาเอาชีวิตเด็กทารกไป เพราะหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู
แต่ในกรณีนี้จะไม่หักคอตุ๊กตา แต่จะใช้มีดกรีดหน้าตุ๊กตาให้ดูน่าเกลียดแทน เสร็จแล้วเอาไปเซ่นผี
ที่ทางสามแพร่งเช่นกัน เป็นนัยว่าเด็กคนนี้หน้าตาน่าเกลียดนะ พอผีมาเห็นว่าตุ๊กตาตัวแทนเด็กหน้าตาน่าเกลียดก็จะไม่มาเอาตัวไปและนอกจากความเชื่อที่ว่า….
ผีจะมาเอาตัวเด็กทารกไป จะสะท้อนผ่านตุ๊กตาเสียกบาลแล้ว ยังมีคำๆ หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน.. นั่นคือคำว่า “น่าชัง”
ในสมัยโบราณคนไทย จะไม่ชมเด็กแรกเกิดว่าน่ารัก แต่จะบอกว่าน่าชังแทน ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะหน้าตาน่ารักแค่ไหนก็ตามที ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะกลัวว่า ผีจะมาได้ยิน ก็เลยบอกว่าเด็กน่าชังไป ผีได้ยินจะได้รู้ว่าเด็กคนนี้ หน้าตาน่าชัง ไม่มาเอาตัวไป
แม้แต่ผู้ใหญ่หากสงสัยว่าคนในบ้านมีอาการแปลก ๆ เชื่อกันว่าเกิดจากการถูกคุณไสยอาคมหมายเอาชีวิต ดวงตก มีเคราะห์ ดวงไม่ดีไม่มีโชค หรือคนที่สงสัยว่าตัวเองนั้นโดนของโดนคุณไสย ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ
ตุ๊กตาเสียกบาลก็จะถูกปั้นขึ้น เพื่อสมมติว่าเป็นตัวแทนของคนผู้นั้น แล้วทำให้ตุ๊กตาเสียกบาลคอหัก เป็นการแสดงให้ผีเห็นว่า คนเจ็บผู้นั้นตายไปแล้ว คอหักไปแล้ว ผีก็จะได้ไม่มาเอาชีวิตของคนป่วย และถือว่าแคล้วคลาดปลอดภัยหลังจบสิ้นพิธีกรรม
ตุ๊กตาเสียกบาลเป็นตุ๊กตาดินเผาเคลือบ สมัยสุโขทัยมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ส่วนใหญ่จะปั้นเป็นผู้หญิงมือถือของใช้หรือเป็นผู้หญิงอุ้มเด็ก … !!!
ตุ๊กตาเสียกบาลยังมีรูปแบบตามยศศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ เช่น ก่อนออกศึกโหรทำนายทายทักว่ามีเคราะห์ ก็จะทำการปั้นตุ๊กตาเสียกบาลเป็นรูปต่างๆ เช่น พระยาขี้ม้า หรือขี่ช้าง แล้วหักคอตุ๊กตาทิ้ง แล้วนำตัวไปฝังตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม
ส่วนใหญ่จะฝังใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือฝังริมน้ำ ส่วนหัวก็เอาไปฝังเช่นกัน แต่ฝังในที่ที่ห่างกันที่เพื่อแก้เคล็ดตามความเชื่อ !!