Home กระทู้ผีพันทิป ตะปูโลงศพ นายแพทย์โดนคุณไสยแทบไม่รอดชีวิต

ตะปูโลงศพ นายแพทย์โดนคุณไสยแทบไม่รอดชีวิต

ตะปูโลงศพ นายแพทย์โดนคุณไสยแทบไม่รอดชีวิต
ตะปูโลงศพ

นายแพทย์สำนวน บัวพิมพ์ เป็นหมอใหญ่ที่จบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะมีความชำนาญในวิชาชีพของท่านคือ การแพทย์รักษาผู้ป่วยแล้ว คุณหมอสำนวนยังเป็น “นักไวโอลิน” มือหนึ่งของประเทศไทยจึงได้รับการขอให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนการสีไวโอลินด้วยเทคนิคระดับสูงให้กับกองดุริยางค์ทหารบก และความสามารถของท่านก็ลือลั่นขจรไปทั่วโลก จนที่สุดก็ได้รับเชิญไปแสดงการเดี่ยวไวโอลินถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสวีเดน ประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น

และอาจเพราะความสามารถรอบตัวจนน่าริษยาเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้คุณหมอสำนวนได้พบกับ “ศาสตร์” ที่ท่านไม่เคยได้สนใจ ไม่เคยร่ำเรียนมา และที่สำคัญคือ ไม่เคยคิดว่าในชีวิตของท่านต้องมาโดนเข้ากับตัวเองอย่างน่าสยองใจที่สุด

ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ คุณหมอสำนวนเกิดมีอาการมือซ้ายชาและเกร็งแข็งขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้ท่านต้องหยุดเล่นไวโอลิน เพราะมือซ้ายต้องเป็นมือที่ใช้กดตัวโน้ต ท่านเพียรพยายามรักษาโดยการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตรวจรักษา แต่ทุก ๆ แพทย์ก็ไม่สามารถค้นหาสมมติฐานของโรคได้ว่าเกิดจากอะไร เหตุใดมือซ้ายของคุณหมอสำนวนจึงเกร็งอยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่อาจรักษาได้ก็เท่ากับว่าท่านกลายเป็น “ผู้พิการ”ไปโดยปริยาย

เหตุนี้ทำให้ท่านเป็นทุกข์ใจอย่างยิ่ง แม้จะดิ้นรนหาทางรักษาด้วยวิทยาการสมัยใหม่เพียงใดก็ไม่ทำให้เกิดผลดีขึ้นมาให้เป็นที่พอใจเลยแม้สักนิดเดียว

จนวันหนึ่ง มีผู้รู้จักนับถือคนหนึ่งแนะนำคุณหมอสำนวนทำในสิ่งที่ท่านไม่เคยเชื่อถือมาตลอด นั่นคือขอให้ลองไปรักษาในทาง “ไสยศาสตร์”ดูบ้าง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อรักษาแบบแผนปัจจุบันวิทยาการสมัยใหม่มามากแล้วยังไม่ดี ก็น่าจะทดลองในทางไสยศาสตร์ดูบ้าง เพราะท่านผู้นี้รู้จักกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในทางไสยขาวรับรักษาคนป่วยที่ถูกของต้องมนต์หายขาดมามากต่อมากรายแล้ว อาจารย์ท่านนี้มีชื่อว่า “อาจารย์โสมทัต เขมจารี”

แม้คุณหมอสำนวนจะไม่มีความเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์มนต์ดำเลยแม้นักน้อยหนึ่งในหัวใจ แต่ด้วยความที่จนตรอกหาทางออกไม่ได้แล้ว กอปรกับผู้แนะนำก็เป็นคนที่มีคุณธรรมน้ำใจนับหน้าถือตากันอยู่แล้ว สิ่งที่พูดมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ คุณหมอสำนวนจึงตกลงเดินทางไปพบอาจารย์โสมทัต เขมจารี ที่สำนักของท่านย่านสวนพลู

วันศุกร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ คุณหมอสำนวนและคุณอุบล บัวพิมพ์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากรวมทั้งท่านผู้แนะนำให้ไปหาอาจารย์โสมทัตได้พร้อมใจกันเดินทางไปที่สำนักของอาจารย์ เมื่อพบกันและแนะนำทักทายเรียบร้อยแล้ว อาจารย์โสมทัตก็ได้ทำการตรวจดูมือซ้ายของคุณหมอสำนวนด้วยพิธีกรรมเฉพาะของท่าน เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วท่านก็บอกกับคุณหมอสำนวนว่า สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้มือของท่านมีอาการเช่นนี้ก็คือ “คุณไสย”ส่วนจะเป็นการกระทำใส่คุณหมอสำนวนโดยตรงหรือคุณหมอถูกของแบบ “ลมเพลมพัด”นั้นไม่อาจบอกได้

อาจารย์โสมทัตบอกว่าจะรักษาให้ด้วยการเรียก “ของ”ที่แฝงเร้นอยู่ในร่างกายออกมา จากนั้นท่านก็ขอตัวไปทำน้ำมนต์ เมื่อเรียบร้อยก็เรียกให้คุณหมอสำนวนมาอาบน้ำมนต์ ขณะที่อาบน้ำมนต์นั้นอาจารย์โสมทัตได้ร่ายพระเวทอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ไม่นานนักสิ่งอัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อผิวเนื้อตรงหัวไหล่ด้านซ้ายของคุณหมอสำนวนค่อย ๆ ปูดนูนขึ้น…นูนขึ้น  แล้วตะปูตัวหนึ่งก็ผุดทะลุขึ้นมาจากผิวหนังอย่างไม่น่าเชื่อ อาจารย์โสมทัตหันมาบอกกับคุณอุบลผู้เป็นภรรยาว่า ให้ใช้คีมคีบที่ตะปูแล้วดึงออกมาตรง ๆ ครั้นคุณอุบลออกแรงฉุดดึงตะปูตัวนั้นออกมาได้หมดดอก ก็แลเห็นชัดว่าเป็นตะปูเก่ายาวประมาณ ๒ นิ้ว สนิมจับเกรอะกรังไปทั้งดอก ซึ่งความยาวของตะปูตัวดังกล่าวเป็นที่รู้กันว่ามันคือขนาดที่ใช้ตอกฝาโลงศพ !

คุณหมอสำนวนกับภรรยาถึงกับตื่นตะลึง ไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองว่าในร่างกายตนสามารถมีตะปูยาวขนาดนั้นเข้าไปฝังอยู่ได้โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำ ไม่รู้ไม่เห็นว่าเข้าไปตอนไหนอย่างไร และไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ขณะที่กำลังตื่นเต้นตื่นตาอยู่นั้น อาจารย์โสมทัตก็กล่าวขึ้นว่าในตัวของคุณหมอสำนวนยังคงมี “ของ”ตกค้างอยู่อีก วันพรุ่งนี้ให้มาใหม่จะทำการเรียก “ของ” ที่เหลือออกมาให้หมดจะได้หายขาด คุณหมอและคณะก็รู้สึกปีติยินดียิ่ง นัดแนะกันแล้วก็กราบลาอาจารย์กลับบ้าน

วันรุ่งขึ้น เมื่อคุณหมอสำนวนจะเดินทางไปตามนัดนั้น บังเอิญคุณประวัติ โชติกำจร เพื่อนผู้คุ้นเคยกับคุณหมอสำนวนได้ทราบว่าคุณหมอจะเดินทางไปพบอาจารย์โสมทัตเพื่อถอนของ ก็เลยขอติดตามไปชมด้วยคนจากนั้นก็ไปชวนคุณท.เลียงพิบูลย์ให้ไปดูเหตุการณ์ด้วยกัน ซึ่งคุณท.เลียงพิบูลย์ ก็ยินดีไปด้วย

เมื่อไปถึงสำนักของอาจารย์โสมทัต ท่านก็ได้ทำน้ำมนต์อาบให้คุณหมอสำนวนเหมือนเช่นเคย ไม่นานนักก็มีตะปูผุดขึ้นมาที่ไหล่ขวาของคุณหมอ อาจารย์โสมทัตได้บอกให้คุณท.เลียงพิบูลย์ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ให้ช่วยถอนตะปูตัวนั้นออกมา คุณท.เลียงพิบูลย์ ก็รับคำทันทีแล้วตรงเข้าไปใช้มือจับตะปูอย่างแน่นหนามั่นคงแล้วออกแรงดึงเต็มที่ด้วยคิดว่าตะปูคงหลุดออกมาได้โดยง่ายเพราะอยู่กับเนื้อกับหนัง แต่ที่ไหนได้ ตะปูตัวนั้นกลับติดแน่นราวกับตอกยึดไว้กับไม้กระดาน แม้คุณท.เลียงพิบูลย์จะออกแรงดึงสักเท่าไรก็ไม่ขยับเขยื้อนจนที่สุดตัวผู้ดึงเองก็ซวนเซจนแทบหกล้ม

ระหว่างที่ดึงอยู่นั้นคุณหมอสำนวนก็เจ็บปวดจนถึงกับร้องโอดโอย แต่อาจารย์โสมทัตก็บอกกับคุณท.เลียงพิบูลย์ว่าไม่ต้องยั้งมือ พยายามดึงตะปูออกมาให้ได้ ซึ่งคุณท.เลียงพิบูลย์ก็ออกแรงเต็มเหนี่ยวจนกระทั่งหัวตะปูเก่าสนิมกรังนั้นหักคามือ

เมื่อหัวตะปูขาดเหลือแต่ตัวลุ่น ๆ เจ้าตะปูตัวร้ายก็ทำอาการดุจมีชีวิต ด้วยการทำท่าจะมุดกลับเข้าไปในร่างของคุณหมอสำนวน อาจารย์โสมทัตจึงเร่งร่ายพระเวทยับยั้งมิให้ตะปูหลบหายเข้าไปได้ ถึงตอนนี้คุณท.เลียงพิบูลย์ได้ร้องเรียกให้ท่านอธิบดีซึ่งยืนอยู่ใกล้ที่สุดให้ช่วยดึงตะปูตัวนั้นแทนท่านที ท่านอธิบดีก็ตรงเข้าไปดึงตะปูหัวขาดสุดแรงเกิด และในที่สุดมันก็หมดฤทธิ์ยอมหลุดออกมาพ้นหนังของคุณหมอสำนวน พอหันไปดูตำแหน่งที่มันหลุดออกมา ก็พบว่ามีแผลเล็ก ๆ และมีเลือดไหลออกมานิดหน่อย

โดยเฉพาะตะปูตัวสุดท้ายนั้น ได้ผุดขึ้นมาที่กลางศีรษะของคุณหมอและได้ถูกดึงออกโดยมือของคุณอุบล ภรรยาของคุณหมอสำนวนเอง ทุกคนถึงกับตะลึงจังงังว่าตะปูยาว ๒ นิ้วแถมยังมีสนิมจับเขรอะ เข้าไปฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะ และแทรกอยู่ในเนื้อสมองได้อย่างไรโดยที่เจ้าของร่างกายไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่รู้สึกตัวว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย และที่สำคัญคือไม่เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตไปในทันที นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากที่สุด

ในวันนั้น อาจารย์โสมทัตได้ทำการเรียก “ของ”ออกจากร่างกายของคุณหมอสำนวน บัวพิมพ์ จนหมด และในทันทีที่ของชิ้นสุดท้ายหลุดออกมา มือซ้ายของคุณหมอสำนวนที่ใช้การไม่ได้มาตลอด ๓ ปี ก็พลันเกิดอาการเบาสบายหายขาดเป็นปลิดทิ้ง สามารถยกแขนเหยียดแขนและหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ได้เป็นปกติ ทำให้คุณหมอดีใจจนน้ำตาคลอเบ้า เพราะตลอด ๓ ปีที่ผ่านมาต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนคนเป็นอัมพฤกษ์ จะทำกิจอันใดก็ไม่ได้ รวมถึงงานอดิเรกที่โปรดปรานคือการเล่นดนตรีสีไวโอลิน

แม้คุณหมอสำนวนและคณะจะพยายามซักถามถึงพิธีการทำของที่คนปล่อยมาใส่ตน ถามถึงคนที่มุ่งร้ายปล่อยของมา อาจารย์โสมทัตก็ไม่ยอมปริปากบอกอะไร นอกจากพูดว่า “รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์”

แต่นั้นมาคุณหมอสำนวน และคุณอุบล บัวพิมพ์ ก็ให้ความเชื่อถือในเรื่องของ “ศาสตร์”ที่ท่านไม่ได้เรียนและเคยดูแคลนมาตลอด กับทั้งให้ความเคารพในตัวอาจารย์โสมทัต เขมจารี ผู้ให้ชีวิตใหม่เป็นอย่างยิ่งนับแต่นั้นมา

ขอขอบคุณเรื่องเล่าชาวสยามเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูล 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here